วัน พฤหัสบดี ที่ 21 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
พัฒนาการอ่านแบบฝึกสะกดคำ ในแม่ ก กา ด้วยอักษรสี
1. ความสำคัญของรูปแบบหรือแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid - 2019) ที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้เรียนได้รับผลกระทบต่อการเรียนรู้ โดยผู้เรียนได้รับการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Online และ Onhand ดังนั้นการเรียนรู้ดังกล่าวทำให้ผู้เรียนบางคนไม่มีเทคโนโลยีที่ช่วยในการเรียน บางคนอาจไม่สามารถเรียนรู้เข้าใจได้ด้วยตนเอง เพราะนักเรียนในชั้นเรียนมีความแตกต่างทางการเรียนรู้ โดยเฉพาะทักษะการอ่าน การเขียน ซึ่งนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ยังคงมีนักเรียนที่มีปัญหาในการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จึงได้หาแนวทางแก้ไขปัญหา
จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นความสำคัญปัญหาของผู้เรียน จึงสนใจที่จะสร้างนวัตกรรมแบบฝึกพัฒนาการอ่านสะกดคำ (แม่ ก กา) โดยเริ่มจากการจากการประสมคำ ระหว่างพยัญชนะ สระ เป็นพื้นฐานของการอ่านออกเขียนได้ให้กับผู้เรียน ซึ่งเป็นแบบฝึกในการสะกดคำโดยใช้สี และรูปแบบการสะกดคำแบบใหม่ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจให้กับผู้เรียนไม่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการเรียนรู้
2. กระบวนการพัฒนารูปแบบหรือแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา
ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ของการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา (แบบฝึกพัฒนาอ่านสะกดคำ แม่ ก กา) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถอ่าน เขียน สะกดคำ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานโดยเริ่มจากง่ายไปยาก มีความคล่องจากการอ่าน เขียน คำในแม่ ก กา ได้ โดยผู้วิจัยประยุกต์การใช้ทฤษฎีของธอร์นไดค์ มาปรับในการจัดการเรียนรู้ โดยการสร้างและออกแบบพัฒนานวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา ให้เป็นการฝึกสะกดคำแบบใหม่ เพื่อให้ผู้เรียนมีความสนใจประสบความสำเร็จจากการฝึกสะกดคำ และเป็นแรงจูงใจให้ผู้เรียนอยากที่จะฝึกสะกดคำ ในระดับที่ยากขึ้นต่อไป อีกทั้งแนวคิดนี้ยังเป็นการฝึกทบทวน เน้น ย้ำ ให้กับผู้เรียนได้ทบทวนการสะกดคำ จนเกิดความคล่องและทำให้สามารถอ่านออก เขียนได้
3. กระบวนการผลิตและขั้นตอนการดำเนินงานผลงานนวัตกรรม
ผู้วิจัยมีกระบวนการดำเนินงานในการพัฒนานวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ กา โดยใช้กระบวนการ PDCA ดังนี้
1. ขั้นการวางแผน (P : Plan)
มีการตั้งเป้าหมายจากปัญหา และวางแผนการทำงาน กระบวนการเพื่อทำให้เป้าหมายนั้นประสบความสำเร็จ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
1) ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหา และเพื่อหาแนวทางร่วมกันแก้ไขปัญหา การอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของนักเรียนแต่ละระดับชั้น
2) ครูประจำชั้นได้ออกแบบ สร้างพัฒนานวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นแบบฝึกที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาการอ่าน การเขียน คำในแม่ ก กา
2. ขั้นการปฏิบัติงานตามแผน (D : Do)
ผู้วิจัยได้ปฏิบัติตามแผน ดังนี้
1) ศึกษาสภาพปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
2) ค้นคว้า แนวคิด ทฤษฎี มาปรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการอ่าน การเขียน
3) ศึกษานวัตกรรม ออกแบบ แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา
4) จัดทำนวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา
5) ลงมือปฏิบัติการใช้นวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา
3. ขั้นตรวจสอบ (C : Check)
ได้ตรวจสอบดูผลลัพธ์ของการนำนวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา ดังนี้
1) ครูประเมินผล วิเคราะห์ข้อมูลจากการทดสอบการอ่าน การเขียน ของผู้เรียนก่อนหลังการใช้นวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา
2) ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายผลจากการดำเนินงาน ในการใช้นวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา ว่ามีส่วนใดที่จะเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการอ่าน การเขียนคำในระดับที่ยากขึ้นต่อไป
4. ขั้นการดำเนินการ/ปรับปรุงแก้ไข (A : Action)
ผลการดำเนินงานในการใช้นวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา ที่ได้ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้เกิดผลสำเร็จ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สามารถอ่าน เขียน ประสมคำ พยัญชนะ สระ ได้ ดังนั้นแล้วผู้วิจัยจะนำนวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำแม่ ก กา ไปปรับและพัฒนาการอ่าน เขียน ต่อไป
4. ผลการดำเนินการ ผลสัมฤทธิ์ ประโยชน์ที่ได้รับ
ผลการดำเนินงานของการใช้นวัตกรรมนั้นผู้เรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ ในมาตรา แม่ ก กา สามารถสะกดคำได้ทุกสระ โดยเริ่มจากสระเสียงยาวก่อน แล้วตามด้วยสระเสียงสั้น ซึ่งแบบฝึกทักษะจะแบ่งการฝึกสะกดคำตามอักษรสามหมู่เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสะกดคำและออกเสียงได้ถูกต้องตามฐานเสียงพยัญชนะไทย ซึ่งแบบฝึกสะกดคำ มาตรา แม่ ก กา ส่งผลพัฒนาผู้เรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มีพัฒนาการอ่านการเขียนดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ให้กับครูผู้สอนสามารถนำไปใช้กับผู้เรียนระดับชั้นอื่น ๆ ที่มีปัญหาดังกล่าวได้
5. ปัจจัยความสำเร็จ/ปัญหาอุปสรรค
ผู้วิจัยใช้นวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายต่าง ๆ จึงส่งผลให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์มีประสิทธิภาพและส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่อไปนี้
1) การได้รับการสนับสนุนจากผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ คณะครูกลุ่มสาระภาษาไทย ที่ได้ร่วมกันวางแผนการแก้ปัญหา การอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
2) การให้การสนับสนุนการอบรมเชิงปฏิบัติการ ตามโครงการพัฒนาการอ่านเขียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 โดยใช้กิจกรรมบูรณการนำสู่การอ่านการเขียนเรียนสนุก จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 3
3) การให้การสนับสนุนการประชุมโครงการพัฒนาการอ่าน การเขียน เรียนสนุก โดยใช้กิจกรรมบูรณาการ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 ณ เครือข่ายโรงเรียนซับใหญ่ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 3
4) ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ที่คอยส่งเสริมให้ความร่วมมือในการพัฒนาการอ่าน การเขียนให้กับผู้เรียน
6. การเผยแพร่
1) ทางเพจครูบ้านนอก .คอม www.kroobannok.com
2) ทางเพจเฟสบุ๊ค ห้องเรียนครูดาว https://web.facebook.com/Soisudaphotong และครูดาวสอนภาษาไทย https://web.facebook.com/profile.php?id=100070105125912
7. การขยายผล ต่อยอด หรือประยุกต์ใช้ผลงานนวัตกรรม
การจัดการเรียนรู้โดยใช้นวัตกรรม แบบฝึกสะกดคำ แม่ ก กา ในการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สามารถต่อยอดนำไปใช้กับผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่กำลังเริ่มฝึกสะกดคำได้ รวมถึงระดับชั้นอื่น ๆ ที่มีปัญหาในการอ่าน การเขียน อีกทั้งเป็นแนวทางในการพัฒนาแบบฝึกสะกดคำในระดับที่ยากขึ้นของโรงเรียนซับใหญ่วิทยาคมต่อไป