วัน พฤหัสบดี ที่ 21 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
การบริหารจัดการสถานศึกษาโดยใช้กระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนซับใหญ่วิทยาคม
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าในแต่ละห้องเรียนจะมีนักเรียนที่มีความสามารถที่หลากหลายและแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น ความรับผิดชอบของครูที่ต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาของนักเรียนจึงต้องเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 มาตรา 10 ที่ระบุว่าการจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ นอกจากนี้แล้วในมาตรา 22 ยังระบุถึงหลักการจัดการศึกษาว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ต้องจัดการศึกษาที่พัฒนาผู้เรียนตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ ด้วยเหตุนี้ครูทุกคนจึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหาวิธีการที่จะช่วยให้นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติดังกล่าวและในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้ยิ่งทำให้ครูต้องเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยการพัฒนาวิชาชีพมากยิ่งขึ้น
การพัฒนาครูที่ประสบผลสำเร็จในหลายประเทศ ต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิชาชีพที่มุ่งให้ครูและผู้เกี่ยวข้องร่วมมือรวมพลังกันพัฒนาวิชาชีพในรูปแบบของ“ชุมชนแห่งการเรียนรู้”อันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมทางบวกแก่ครูโดยเฉพาะการเปลี่ยนกรอบคิดการพัฒนาตนเองของครูและส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาผู้เรียนโรงเรียนเกิดกลไกที่นําไปสู่การเพิ่มสมรรถนะในการทำงานของทุกฝ่ายซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญทำให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 การจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับครูจึงต้องมีรูปแบบและวิธีการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพื่อให้ครูสามารถพัฒนาวิชาชีพของตนเองในยุคโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
นวัตกรรมการพัฒนาวิชาชีพที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนให้กับครูในยุคนี้ได้แก่ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ Professional Learning Community (PLC) เป็น “การรวมตัว ร่วมใจ ร่วมทำ และร่วมเรียนรู้ร่วมกันของครูผู้บริหารและนักเรียนบนพื้นฐานวัฒนธรรมความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร สู่คุณภาพการจัดการเรียนรู้ที่เน้นความสำเร็จหรือประสิทธิผลของผู้เรียนเป็นสำคัญ และความสุขของการทำงานร่วมกันของสมาชิกในชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ”
ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพจึงเป็นเครื่องมือให้ครูรวมตัวกันเป็นกลุ่มแบบ community ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิรูปการเรียนรู้เป็นการปฏิรูปที่เกิดจากภายใน คือครูร่วมดำเนินการ เอาประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ที่คลอบคลุม อาทิ การสอนแบบ Active Learning การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นเป็นสำคัญ หรือการบริหารจัดการชั้นเรียน เป็นต้น มาแลกเปลี่ยนแบ่งปัน ช่วยกันออกแบบการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนให้มีคุณภาพการเรียนรู้ที่ดีกว่าเดิม ช่วยกัน ทดลองสอนจริง มีมิตรวิพากษ์เกิดเป็นงานสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ส่งผลต่อนักเรียนโดยตรง การพัฒนาครูจึงเป็นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างแท้จริง